วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อาการบาดเจ็บของนักเพาะกาย 2


เข็มขัดฝึก

               เท่าที่มองเห็นในโรงยิมนั้น เข็มขัดฝึกที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ขนาด


  1.ขนาดปกติ (ภาพบน) - เป็นหนังที่มีความหนาชั้นเดียว (บางครั้งก็เปลี่ยนจากหนัง เป็นใยสังเคราะห์) ในส่วนที่ดามหลังจะมีความกว้าง 4 นิ้ว  ส่วนที่อยู่ด้านหน้ามีความกว้าง 2 - 3 นิ้ว (เข็มขัดฝึกที่ทางเวบจัดจำหน่ายนั้นจะใช้ขนาดนี้นะครับ เพราะถือว่าเป็นไซท์มาตรฐาน 

               2.ขนาดกว้าง - มีรูปแบบเหมือนกับขนาดปกติ เพียงแต่เพิ่มความกว้างด้านหลังให้เป็น 6 นิ้ว (คำว่า "กว้าง" ในความหมายของฝรั่ง จะไม่เหมือนของคนเอเซียนะครับ เหมือนกับเสื้อไซท์ XL ของเรา อาจจะเท่ากับเสื้อไซท์ M ของฝรั่งก็ได้ ดังนั้นถ้าเข็มขัดฝึกนี้ ฝรั่งถือว่าเป็นขนาด "กว้าง" แล้วล่ะก็ คิดว่าไม่น่าจะเหมาะกับบ้านเราครับ เพราะจะใหญ่เกินไป



   3.แบบ Power (ภาพบน)  - จะเป็นเข็มขัดพิเศษที่ใช้วัสดุทำทบกันหลายๆชั้น จะมีความกว้างเท่ากันทั้งเส้นคือ 4 นิ้ว  ใช้สำหรับกีฬา Powerlifting เท่านั้น (ความเห็นส่วนตัว - นายแบบในภาพข้างบนนี้ มีขนาดช่องท้องกว้าง และไม่มีจุดเด่นอะไรในร่างกายท่อนบนเลย ซึ่งนี่คือลักษณะของนักกีฬา Powerlifting ที่แท้จริง เพราะเขาสนใจเพียงทำอย่างไรก็ได้ให้เอาชนะกันในท่า และน้ำหนักที่แข่งขันเท่านั้น ซึ่งผมไม่ได้มีอคติอะไรกับกีฬา Powerlifting นี้ เพียงแต่คิดว่าการเบียด การเกทับคู่ต่อสู้นั้น ทำได้บนสนามแข่งขัน ซึ่งปีหนึ่งมีไม่กี่ครั้ง ในขณะที่การเพาะกาย Bodybuilding คุณสามารถเบียด ,เกทับ คู่ต่อสู้ (ในความหมายนี้ หมายถึงคนรอบข้างคุณ) ได้ตลอด 24 ชั่วโมงและใช้ได้ในชีวิตจริง เพราะการที่คุณมีรูปร่าง "ไม่ธรรมดา" มันอยู่ติดกับตัวคุณไปได้ทุกที่ครับ

               ตอนนี้เราจะมาดูกันว่าเข็มขัดฝึกช่วยผู้ที่สวมใส่มันอย่างไร? เริ่มต้นด้วยการมองให้เห็นภาพช่องท้องของเราก่อนว่ามันจะมีลักษณะเป็นโพรง และมีอวัยวะต่างๆอยู่ภายในโพรงนั้น  ทันทีที่เราเกร็งหน้าท้อง ด้วยลักษณะทางกายภาพ จะทำให้กระดูกสันหลังส่วนล่าง ได้ลดภาระการแบกรับน้ำหนักของร่างกายลงทันที  โดยที่มีผลการวิจัยมาแล้วว่า ถ้าลำพังกระดูกหลังส่วนล่างนั้น จะสามารถแบกรับแรงกดได้เพียง 4 - 5 ปอนด์ (ประมาณ 2 กิโลกว่าๆ) เท่านั้น ถ้ามีแรงกดมากกว่านั้น หลังส่วนล่างก็จะได้รับบาดเจ็บ  แต่เหตุที่นักกีฬาสามารถยกน้ำหนักได้เป็นร้อยๆกิโล ก็เป็นเพราะแนวเส้นของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง ที่วิ่งขนานไปกับแนวกระดูกสันหลัง ได้ทำหน้าที่รองรับแรงกดอันมหาศาลต่างหาก อีกทั้งแนวกล้ามเนื้อนี้ ยังมีหน้าที่ดึงให้หลังส่วนล่างอยู่ในลักษณะยืดตรง และทำให้การทรงตัวของร่างกายท่อนบน เป็นไปอย่างถูกต้อง 

               ช่องโพรงของกล้ามท้อง อาจถูกทำให้ตึงได้ด้วยการเกร็งลำไส้ของเรา โดยการเกร็งลำไส้จะเป็นการเพิ่มแรงดันไปที่ช่องท้อง (intra-abdominal pressure (IAP)) (ตามปกติการเกร็งกล้ามท้องก็ควบคู่กับการหายใจออก และการหายใจออกก็ควบคู่กับการเพิ่มพละกำลังในร่างกาย คุณจึงสังเกตได้ว่าตอนที่เรากำลังออกแรงยกน้ำหนักนั้นเราจะหายใจออกโดยธรรมชาติ แล้วเวลาผ่อนน้ำหนักลงก็จะหายใจเข้านั่นเอง ขอให้เพื่อนสมาชิกจำคำว่า LAP นี้ให้ดี เพราะจะต้องอ่านเจอในบทความข้างล่างนี้อีกครับ   ซึ่งด้านหลังโพรงช่องท้องนั้น ติดอยู่กับ กระดูก หลังส่วนล่าง และ กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง (คลิ๊กเพื่อดูรูป)   ส่วนด้านล่างของโพรงช่องท้องนั้น วางอยู่บนกระดูกเชิงกราน  ด้านบนของโพรงช่องท้องอยู่ติดกับกระบังลม  นอกจากนี้เรายังมี กล้ามเนื้ออ๊อบบลิก (คลิ๊กเพื่อดูรูป) อยู่ทางด้านข้างทั้งสองข้างของหน้าท้อง ที่ทำหน้าที่ช่วยตรึงให้หน้าท้องด้านหน้าของเราอยู่ในตำแหน่งที่คงที่   ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะมีกล้ามท้องที่แข็งแรงขนาดไหนเพราะอย่างไรก็ตาม การใส่เข็มขัดจะช่วยถ่ายแรงกดที่เกิดขึ้นที่กระดูกสันหลังส่วนล่าง เอาไปเปลี่ยนเป็นแรงดันไปที่โพรงหน้าท้องแทน (LAP) ซึ่งก็คือหลักการง่ายๆที่จะไม่ให้กล้ามหลังส่วนล่าง รวมไปถึงกระดูกหลังส่วนล่างของคุณต้องได้รับบาดเจ็บ 

               ตามที่ผมพูดมาข้างต้นแล้วว่ากระดูกหลังส่วนล่างเพียวๆ  จะรับแรงกดได้เพียง 4 - 5 ปอนด์ (2 กิโลกว่าๆ) เท่านั้น คราวนี้เราจะมาดูกันว่าบรรดานักกล้าม เขาจะรับแรงกดที่หลังส่วนล่างได้มากขนาดไหน? คำตอบก็คือ "มหาศาล" เลยทีเดียว  โดยดูท่าที่เขาบริหารกันเป็นปกติประจำวันอยู่แล้วนั่นคือท่า Squat ด้วยน้ำหนัก 300 ปอนด์ (136 กิโลกรัม) ซึ่งท่านี้ เมื่อตรวจวัดกันด้วยเครื่องมือแล้ว มันเกิดแรงกดมหาศาลไปที่บริเวณหลังส่วนล่าง มากถึง 2,500 ปอนด์ (1,136 กิโลกรัม)  แต่นักเพาะกายก็สามารถบริหารได้หน้าตาเฉย  และทดลองกับท่า Good morning ด้วยน้ำหนัก 700 ปอนด์ (318 กิโลกรัม) ก็เกิดแรงกดไปที่หลังส่วนล่างถึง 8,500 ปอนด์ (3,863 กิโลกรัม) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารู้แล้วว่าจะเกิดแรงกดมหาศาลเช่นนี้ที่หลังส่วนล่างของเรา ดังนั้นการใส่เข็มขัดเพื่อช่วยผ่อนแรงไปที่หน้าท้องบ้าง ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการบาดเจ็บที่หลังส่วนล่างได้มากถึง 50% (เพราะแรงกดจะผ่อนไปที่หน้าท้องถึง 50%)

กระบังลม และระบบการหายใจ

               ปริมาณของการเพิ่มแรงดันไปที่ช่องท้อง (LAP) ขึ้นโดยตรงกับช่องว่างหรือโพรงส่วนบนในช่องท้องของคุณ นั่นคือ "กระบังลม" ซึ่งการหายใจเข้าแล้วเก็บกักลมหายใจไว้ ก็คือส่วนที่เรากำลังจะพูดถึงในหัวข้อนี้  ยกตัวอย่างในท่า SQUAT ด้วยน้ำหนักที่หนักมาก  ก่อนที่ผู้บริหาร (ที่แบกบาร์เบลล์ไว้บนบ่าแล้ว) กำลังจะย่อตัวลง เขาเหล่านั้นก็จะหายใจเข้าลึกๆ และกลั้นหายใจเอาไว้เพื่อทำให้มีลมเก็บกักไว้ที่บริเวณกระบังลม เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Valsalva maneuver (ขออนุญาตทับศัพท์นะครับ เพราะไม่มีคำแปล  ซึ่งเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติในการป้องกันกระดูกหลังส่วนบนไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ  โดยกรรมวิธีของ Valsalva maneuver  ก็คือ อัดอากาศเข้าไปในช่องว่างของช่องท้องส่วนบนเพื่อให้หน้าอกเชิด เพื่อรักษาแนวของกระดูกหลังส่วนบน ให้เหมาะกับการย่อตัวลงในขณะที่มีน้ำหนักที่หนักมหาศาลอยู่บนบ่า เราเรียกการหายใจเข้าเพื่อเอาอากาศเข้าไปกักไว้แบบนี้ว่า intra - thoracic pressure (ITP) (อันนี้ตรงข้ามกับ LAP ตรงที่ LAP คือการเกร็งหน้าท้อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเอาลมออกนั่นเอง  

               การกลั้นหายใจไว้นานเกินไปย่อมไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น หลังจากที่คุณย่อตัวถึงจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่คุณกำลังยืนขึ้นก็ขอให้คุณเริ่มหายใจออก โดยจุดเริ่มต้นของการหายใจออกก็คือขณะที่คุณกำลัง "ผ่านจุดที่ออกแรงสูงสุด" ในทันที (อธิบาย - จุดที่ออกแรงสูงสุด ฝรั่งเรียกว่า Stricking point ในความหมายนี้ก็คือ ให้ลองนึกภาพหลังจากที่คุณย่อตัวลงสุดในท่า Squat นั้น และกำลังจะยืนขึ้น จะมีอยู่จุดหนึ่งตอนที่กำลังจะยกตัวขึ้นที่คุณจะต้องออกแรงมากที่สุด ซึ่งพอพ้นจุดนี้แล้ว การยืนตัวขึ้นตรงก็จะทำได้สบายๆแล้ว นั่นแหละคือจุดที่เขาเรียกว่า Stricking point  ลองสังเกตตอนที่คุณปู่ หรือคุณย่าของคุณกำลังลุกขึ้นจากการนั่งบนเก้าอี้ แล้วเขาก็อุทานโดยไม่รู้ตัวว่า "ฮึบ" นั่นแหละ คือ Stricking point ของท่านแหละครับ   เมื่อคุณยืนขึ้นตรงแล้ว ขณะที่กำลังจะย่อตัวลงไปเป็นครั้งที่สอง ก็ให้คุณหายใจเข้าอีกแล้วกลั้นหายใจไว้ แล้วจึงย่อตัวลง   สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้อผิดพลาดนี้สามารถพบได้กับหลายคนที่ชอบกลั้นหายใจไว้ตลอดการบริหารในครั้งนั้นๆ  การหายใจมีความสำคัญเพราะถ้าคุณกลั้นหายใจ เลือดก็จะไม่วิ่งไปที่หัวใจ และก็จะไม่เกิดการปั้มเลือดออกจากหัวใจเพื่อวิ่งไปส่วนต่างๆทั่วร่างกายได้ 

               ข้างล่างนี้คือข้อแนะนำในการใช้เข็มขัดฝึก

               1.นักเพาะกายควรใช้เข็มขัดฝึกที่มีความกว้างด้านหน้าและความกว้างด้านหลังไม่เท่ากัน เพราะมันจะช่วยเพิ่ม LAP ให้คุณในขณะบริหาร (เข็มขัดฝึกแบบ Power ที่มีความกว้างเท่ากันทั้งเส้นนั้น เหมาะสำหรับกีฬา Powerlifting เพราะเวลาเขาแข่งเขายกกันครั้งเดียว ไม่ได้บริหารติดต่อกันเป็นเซทเหมือนนักเพาะกาย  

               2.เลือกเข็มขัดที่คุณรู้สึกว่ามันรัดแน่นพอ (อย่าให้รู้สึกว่าหลวม) และอย่าเลือกใช้แบบเส้นที่ใหญ่เกินไป โดยเฉพาะคนที่มีช่วงลำตัวท่อนบนสั้นจะเห็นผลเลยว่า ขอบด้านบนของเข็มขัดจะไปดันตรงส่วนบริเวณชายโครงด้านล่าง ส่วนขอบด้านล่างก็จะไปดันบริเวณกระดูกเชิงกรานของคุณ ซึ่งจะทำให้รู้สึกไม่สะดวกสบายเวลาบริหาร 

               3.เนื่องจากการใส่เข็มขัด มันไปลดแรงกดที่หลังส่วนล่าง ดังนั้นจึงขอแนะนำว่าให้ใส่เฉพาะตอนที่บริหารด้วยน้ำหนักที่หนักมากๆเท่านั้น (ความหมายก็คือ ถ้าใส่ในการเล่นกับทุกท่าแล้ว ก็จะทำให้หลังส่วนล่างไม่ค่อยได้ออกแรง ไม่ได้รับการบริหารนั่นเอง เขาจึงแนะนำว่าให้ใช้สำหรับท่าที่หนักมากๆเท่านั้น เพราะท่าที่หนักมากๆคือท่าที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ประโยชน์สูง 

               4.เมื่อชี้เฉพาะลงไปแล้วก็คือ ท่าที่จะต้องใช้เข็มขัดฝึกก็คือท่าที่มี "กล้ามหลัง" มาเกี่ยวข้องในขณะบริหาร อันได้แก่ท่า Squat ทั้งหลาย (ทั้งแบบเอาบาร์ไว้ด้านหน้า และด้านหลัง หรือแบบใช้บาร์เบลล์หรือ เครื่องสมิท แมชชีน ),ท่ายืนยกน้ำหนักขึ้นเหนือหัวทั้งหลาย ,ท่า DEADLIFT

               ทั้ง LAP และ ITP ต่างก็ช่วยบรรเทาแรงกดไปที่กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังได้โดยธรรมชาติ ส่วนการใช้เข็มขัดฝึกจะช่วยเพิ่ม LAP ให้คุณถึง 20% และยังช่วยป้องกันไม่ให้หลังบาดเจ็บด้วย (ยังจำได้นะครับว่า LAP เกี่ยวข้องกับการเกร็งหน้าท้อง เกี่ยวข้องกับการหายใจออก และเกี่ยวข้องกับการออกแรง 


เสื้อซูเปอร์ซุท & ผ้าพันหัวเข่า

               ผลการวิจัยโดยคุณราฟาเอล  เอสคามิลล่า ที่ใช้ประกอบในการทำวุฒิปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออเบิร์น ชี้ชัดว่าทั้งเสื้อซูเปอร์ซุท (supersuits) และผ้าพันหัวเข่า มีผลทางกลศาสตร์กับท่า Power Squat (ภาพบน) โดยตรง เขาค้นพบว่าเมื่อใช้อุปกรณ์สองอย่างนี้แล้ว ผู้ยกน้ำหนัก จะสามารถยกปริมาณลูกน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นถึง 13% ของที่เคยยกอยู่ตามปกติ และสามารถย่นระยะเวลาในการยก (ในแต่ละครั้ง) ให้น้อยลงได้ด้วย

               แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของกีฬา Powerlifting คือ "ปริมาณ" ลูกน้ำหนักที่ใช้ยก ในขณะที่เป้าหมายสูงสุดของกีฬาเพาะกาย คือการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ได้สูงสุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้น้ำหนักที่หนักที่สุด แต่ขึ้นกับส่วนประกอบอื่นๆเช่นโภชนาการ เทคนิค ความมีวินัยในการฝึก ฯลฯ แต่ในที่นี้เราก็จะพูดให้เห็นภาพโดยรวมของเสื้อซูเปอร์ซุทเสียก่อนว่า

               1.ช่วยให้กล้ามหน้าอกและช่องว่างบริเวณกระบังลม ได้เกิดแรงเค้นสูง นั่นหมายความว่าช่วยเพิ่ม ITP และ LAP และยังช่วยให้ร่างกายทรงตัวอย่างสมดุลในขณะบริหาร 

               2.ตัวเสื้อซูเปอร์ซุทเอง ทำตัวเหมือนเป็น "หนังยางกระเด้ง" ให้กับผู้สวมใส่ หมายถึงว่าช่วยในการกระเด้งตัวจากจุดที่ย่อตัวลงต่ำสุด จะกลับมาในท่ายืน โดยไม่ทำให้กล้ามเนื้อทั้งร่างกายต้องออกแรงมากๆโดยลำพัง

               เสื้อซูเปอร์ซุทให้ทั้งความยืดหยุ่น และติดแน่นกับส่วนที่เป็นจุดเชื่อมต่อของสะโพก และยังช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนอื่นบริเวณสะโพกด้วย (อันได้แก่ก้น และหลังขา) 

               รูปแบบแรกของการทำงานของซูเปอร์ซุทคือ ให้ความปลอดภัยในขณะบริหาร อันส่งผลให้กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการบาดเจ็บ ,รูปแบบที่สองคือเพิ่มปริมาณน้ำหนักที่คุณจะสามารถยกได้ ให้เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าไม่จำเป็นต่อนักเพาะกาย เพราะส่วนของน้ำหนักที่สามารถใช้ได้เพิ่มขึ้นนี้ ไปอิงกับการใช้เสื้อซูเปอร์ซุท แต่การเพาะกายต้องการเพียงน้ำหนักที่ใช้สำหรับการออกแรงจริงจากกล้ามเนื้อเท่านั้น (the amount of actual work) (อธิบาย - นักเพาะกายสองคน ที่คนหนึ่งใส่ซูเปอร์ซุท แม้ว่าจะยกน้ำหนักได้หนักกว่านักเพาะกายอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ใส่ซูเปอร์ซุทถึง 13%  แต่จริงๆแล้วสองคนนี้ออกแรงจริงจากกล้ามเนื้อเท่ากัน จึงให้ผลของการเพาะกายที่เท่ากัน ไม่ว่าจะใส่ซูปอร์ซุทหรือไม่ก็ตาม) 






ผ้าพันหัวเข่า Knee Wrap

    สำหรับผ้าพันหัวเข่านั้น ขนาดมาตรฐานคือความยาว 2 เมตร และมีความกว้าง 8 เซนติเมตร และมันก็ทำหน้าที่เหมือน "หนังยางกระเด้ง" ให้กับผู้สวมใส่ (เหมือนกับที่เสื้อซูเปอร์ซุททำ คือทำให้กระเด้งตัวจากจุดที่ย่อตัวต่ำสุดให้กลับมาในท่ายืนได้อย่างไม่ยากเย็น)  แม้ว่าในครั้งแรกฟังแล้วดูเหมือนว่าผ้าพันหัวเข่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้ สามารถยกน้ำหนักได้มากขึ้น แต่จริงๆแล้วมันก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้นั้น เรามาดูส่วนประกอบทางกายภาพของ กระดูกหลักๆที่อยู่บริเวณหัวเข่าก่อน ซึ่งจะพบว่ามันมีจุดเปราะบางมากกว่าจุดเชื่อมต่อที่สะโพก และข้อเท้ามาก แต่ว่าที่หัวเข่านั้นกลับมี เส้นเอ็น ,กระดูกอ่อน และแคปซูลของจุดเชื่อม (Joint capsule) ที่ดีกว่าจุดอื่นมาก ซึ่งหากใช้ท่าทางที่ถูกต้องแล้ว กระดูกหัวเข่าจะสามารถรับแรงยก ,แรงเค้นได้มหาศาลทีเดียว
               ย้อนกลับมาประโยคที่ว่าการใช้ผ้าพันหัวเข่า อาจเกิดปัญหาได้นั้น เหตุผลก็เพราะการใส่ผ้าพันหัวเข่าจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่บริเวณ "กระดูกสะบ้าหัวเข่า" โดยการดันมันไปชนกับกระดูกของต้นขาท่อนบน  โดยการทดลองชี้ให้เห็นว่าลำพังเพียงน้ำหนักตัวอย่างเดียว (ไม่ได้แบกน้ำหนักอื่น) เวลาที่คุณย่อตัว (งอหัวเข่า) มากที่สุด จะเกิดแรงดันไปที่กระดูกสะบ้าหัวเข่านี้ มากกว่า 7.5 ครั้ง และปริมาณแรงกดนั้นสูงถึง 2,000 ปอนด์ (909 กิโลกรัม) เลยทีเดียว   อย่างไรก็ตาม ข้อดีของผ้าพันหัวเข่าก็คือยึดให้กระดูกสะบ้าหัวเข่าอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไปทางซ้ายหรือขวามากเกินไปในขณะบริหาร 


สแตรปส์สำหรับหัวเข่า

               ในกรณีอุปกรณ์ที่เป็นแสตรปส์สำหรับหัวเข่าโดยเฉพาะ ก็ให้ผลการใช้ที่เหมือนกันกับการใช้ผ้าเป็นม้วนพันนั่นเอง ต่างกันตรงที่มีการพันของตัวแสตรปส์อยู่ที่ใต้กระดูกหัวเข่า และคลุมกระดูกสะบ้าหัวเข่าเอาไว้   ซึ่งนักกีฬาโอลิมปิคบางคนก็จะเลือกใช้แสตรปส์สำหรับหัวเข่าเพื่อรักษาตำแหน่งของกระดูกสะบ้าหัวเข่าเอาไว้ขณะยกน้ำหนักบนเวที  แต่มันจะไม่ช่วยทำให้ยกน้ำหนักได้มากขึ้นแต่อย่างใด

               จำไว้ให้ขึ้นใจว่า การเพาะกายเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดมาจากการเลือกท่าบริหารที่ดี และบริหารท่านั้นด้วยท่าทางที่ถูกต้องเข้มงวด เพื่อให้ได้กล้ามเนื้อที่ใหญ่ขึ้นและคม ,แตกชัด ส่วนการที่จะเลือกใช้อุปกรณ์เสริมใดๆ ขอให้เป็นไปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่จะทำให้คุณยกน้ำหนักได้มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะคุณควรใช้พละกำลังมาจากกล้ามเนื้อของคุณล้วนๆมากกว่า







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น