วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคสร้างกล้ามด้านซ้ายและขวาให้เท่ากัน


 หากพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว เมื่อแบ่งร่างกายมนุษย์ออกเป็นสองด้าน คือด้านซ้ายและขวา จะพบว่าน้อยคนนักที่จะมีขนาด และสัดส่วนสมมาตรเท่ากันพอดี เพียงแต่ความแตกต่างนั้นไม่มากจนผิดสังเกตุเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนถนัดขวา แขนขวาของคุณก็จะมีขนาดใหญ่กว่าแขนซ้าย เพราะคุณจะใช้แขนขวาทำงานมากกว่าตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากล้ามทั้งสองด้านจะไม่เท่ากัน มันก็ไม่กระทบกระเทือนในการดำเนินชีวิตประจำวันแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณเป็นนักกล้ามล่ะ?

            ไม่ใช่ว่าเราจะพูดถึงอันตรายอะไรหรอกครับ เรากำลังมาวิเคราะห์นิสัยของนักกล้ามกันต่างหาก  เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า นักกล้ามแทบทุกคน จะมีนิสัยเหมือนกันคือความเป็นคนช่างสังเกตุ และเอาใจใส่กับร่างกายตัวเอง  ก็เป็นเพราะความเอาใจใส่นี่เอง ที่บอกกับตัวเองว่า ตอนนี้เราอ้วนแล้วนะ ,ตอนนี้เราผอมไปนะ ฯลฯ จึงทำให้เราหันมาจับลูกเหล็กเล่นกล้ามกัน (ในขณะที่คนที่ไม่เอาใจใส่กับตัวเอง ก็เอาเวลานี้ไปเที่ยวเตร่ ทานเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนฝูงไป)  แล้วก็ไอ้ความช่างสังเกตุนี่เอง ที่เวลาเราส่องกระจกแล้ว เราจะต้องเพ่งมองไปที่แขนซ้ายของเรา หรือกล้ามปีกด้านซ้ายของเราทุกครั้ง เพราะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจที่มันไม่สมดุลกับกล้ามทางด้านขวา ในขณะที่คนรอบๆข้างเรา เขาไม่เคยสังเกตุเราถึงขนาดนั้น อย่ากระนั้นเลย เรามาแก้ความรำคาญใจนี้กันดีกว่าครับ

            เมื่อแขนข้างซ้ายของเราเล็กกว่าข้างขวา ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องลดขนาดแขนข้างขวาลง สู้เราสร้างแขนข้างซ้ายขึ้นมาให้ทัดเทียมกันดีกว่า โดยเราจะใช้แค่สองหลักการเท่านั้นคือ

            1.ความสดชื่นของกล้ามเนื้อ

            2.ขจัดปัญหาความไม่สมดุลของอุปกรณ์เพาะกาย เรามาเริ่มกันที่เรื่องแรกก่อนนะครับ

            ข้อแรก ความสดชื่นของกล้ามเนื้อ คุณลองสังเกตุดูสิว่า เมื่อคุณพักติดต่อกันหลังเล่นกล้ามสัก 2 วัน (สมมติว่าเป็นวันเสาร์และอาทิตย์) คุณจะพบว่ากล้ามเนื้อกลุ่มแรกที่บริหารในวันจันทร์ จะมีความสดชื่นมาก และสามารถรับการบริหารอย่างหนักได้เป็นอย่างดี ดังนั้นกล้ามเนื้อกลุ่มนั้น ก็จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าส่วนอื่น ปัญหาก็คือ ถ้าคุณเอากล้ามหน้าอกมาเล่นวันจันทร์ทุกครั้ง กล้ามหน้าอกก็จะโตเร็วเกินไปจนกล้ามตัวอื่นตามไม่ทัน วิธีแก้คือต้องมีการหมุนเวียน เอากล้ามอื่นมาใส่ไว้ในตารางวันจันทร์แทน แล้วสลับหมุนเวียนกันไป 

            เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราก็สามารถนำมันมาประยุกต์ ใช้กับการทำกล้ามข้างซ้ายและขวาให้เท่ากันได้ นั่นคือ เราเอาเวลาพักระหว่างเซทเป็นที่ตั้ง กล้ามเนื้อชิ้นแรกที่ได้รับการบริหารหลังจากพักเซทแล้ว ย่อมมีความสดชื่นมากกว่ากล้ามเนื้อรองลงไป ทำให้ได้รับผลการฝึกได้ดีกว่า ดังนั้นคำตอบของเรื่องนี้ก็คือ สำหรับท่าบริหารที่ต้องบริหารด้วยแขนทีละข้างแล้ว ให้เริ่มต้นเซทด้วยแขนข้างซ้าย หรือขาข้างซ้าย หัวไหล่ด้านซ้าย ปีกด้านซ้าย ก่อนทุกครั้ง



  ประการที่สอง คือความไม่สมดุลของอุปกรณ์   สิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้คือ ไม่ว่าบาร์เบลล์ หรือดัมเบลล์ที่เราใช้จะดีขนาดไหนก็ตาม เราก็ยังมีตัวแปรอื่น ที่ทำให้ความหนักของดัมเบลล์ และบาร์เบลล์ทั้งด้านซ้ายและขวาไม่เท่ากัน อย่างเช่น ความชำรุด เช่นแผ่นบาร์เบลล์ข้างซ้าย สึกกร่อน จึงน้ำหนักเบากว่าข้างขวา หรือการถือคานบาร์เบลล์ ที่ระยะห่างระหว่างมือถึงแผ่นบาร์เบลล์ในแต่ละข้างไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งพื้นที่เรายืนอยู่เกิดมีความเอียงเล็กน้อย สิ่งต่างๆที่เราไม่ทันสังเกตุเหล่านี้ มีผลทำให้กล้ามแขนทั้งซ้ายและขวารับน้ำหนักไม่เท่ากัน สมมติว่าน้ำหนักบาร์เบลล์ หรืดดัมเบลล์ที่ลงแขนข้างขวามากกว่า พอเราเล่นกล้ามไปเป็นปีๆ ก็จะพบว่ากล้ามด้านขวามีขนาดใหญ่กว่าข้างซ้ายไปเสียแล้ว ต้องมาเสียเวลาแก้ข้างซ้ายให้ทันข้างขวาอีก 

            เมื่อทราบดังนี้แล้ว เราจึงควรเล่นกล้ามโดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่จะอธิบายดังต่อไปนี้ให้ชินเป็นนิสัย แล้วเพื่อนสมาชิกจะไม่มีปัญหาขนาดกล้ามซ้ายขวาไม่เท่ากันอีกเลย

            1. ปรับอุปกรณ์เสียก่อน เพื่อนๆคงรู้จักเรื่องของโมเมนตัม ที่ว่าในวัตถุชิ้นเดียวกัน หากระยะห่างจากจุดศูนย์กลางถึงจุดปลายเท่ากัน แรงกดก็จะเท่ากัน เราจึงมาพิจารณาบาร์เบลล์กัน พบว่า แม้ว่าแผ่นบาร์เบลล์มีน้ำหนักเท่ากันทั้งซ้ายและขวาพอดีก็ตาม แต่หากระยะจากจุดศูนย์กลางไปถึงแต่ละแผ่นไม่กัน แรงกด (น้ำหนักบาร์) ทั้งซ้ายและขวาก็ย่อมไม่เท่ากัน กล้ามแขนข้างที่ยกด้านที่หนักกว่า ก็ย่อมได้ผลดีกว่าอีกข้างหนึ่ง ดังนั้น ผมแนะนำให้คุณลองหาท่อนไม้เล็กๆ หรือแป๊ปน้ำติดตัวไปโรงยิมด้วยดังรูปข้างล่างนี้




   จากนั้น ให้เรามาพิจารณาดูบาร์เบลล์ที่เรากำลังจะบริหาร โดยทำดังนี้คือ


 ก. เอาปลายไม้ด้านหนึ่งไปสัมผัสกับแผ่นบาร์เบลล์ ส่วนปลายอีกด้านหนึ่ง ให้เอานิ้วชี้สัมผัสกับปลายคานบาร์เบลล์ แล้วให้เอานิ้วโป้ง "จิก" ไว้ในแนวเดียวกับที่นิ้วชี้แตะอยู่กับบาร์ ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อจะได้ทราบระยะที่แน่นอนของคานด้านหนึ่งก่อน จากนั้นให้ถืออยู่ในลักษณะนี้ แล้วเดินไปอีกด้านหนึ่งของบาร์



          ข. จากนั้นเอาไม้อันเดียวกันนั้นไปวางทาบที่ปลายสุดของบาร์เบลล์อีกด้านหนึ่ง โดยให้นิ้วชี้สัมผัสปลายบาร์ ส่วนนิ้วโป้งก็ยังอยู่ในลักษณะจิกอยู่เหมือนเดิม ถึงตรงนี้ เพื่อนๆอาจจะขนลุกเมื่อพบว่าคานบาร์เบลล์ที่เล่นมานาน มีระยะห่างจากปลายทั้งสองด้านเข้ามาไม่เท่ากัน อาจจะมีระยะห่างมากกว่า หรือน้อยกว่าอีกด้าน ทำให้โมเมนตัมสองข้างไม่เท่ากัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็แก้ไขโดยใช้มือซ้ายเลื่อนแผ่นบาร์เบลล์เข้าหรือออก จนติดปลายไม้ที่นำมาเทียบนั้น 




ค.-ง.-จ.  จากนั้นก็เอาจัดการเลื่อนหมุดกั้นแผ่นบาร์เบลล์ออกมาจนชิดแผ่นบาร์เบลล์ เมื่อเราทำทั้งหมดนี้เสร็จแล้ว เราก็จะมั่นใจประการหนึ่งแล้วว่าอย่างน้อยระยะห่างของแผ่น ระหว่างด้านซ้ายและขวาย่อมเท่ากันแน่นอน (การไปบริหารที่ยิม ซึ่งมีคานบาร์เบลล์เก่ามากๆ อาจไม่มีหมุดยึดเลยทั้งด้านนอกและด้านใน คือเป็นคานเปล่าๆ กับแผ่นบาร์เบลล์ให้สอดรอดรูเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การพกไม้วัดนี้ติดตัว จะช่วยได้มากครับ)








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น